วันพฤหัสบดี, กรกฎาคม 14, 2554

มหัศจรรย์ ซองเกซอน


มหัศจรรย์ ซองเกซอน

หลังจบสารคดีสั้น 11 นาที "ซองเกซอน" เสียงปรบมือก็ดังกึกก้องห้องประชุม

ผมมีโอกาสรู้เรื่อง "ซองเกซอน" เป็นครั้งแรก จากงานสัมมนา Creative Economy ที่จัดโดย Office of Knowledge Management and Development หรือเรียกสั้น ๆ ว่า OKMD

หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่เพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ให้กับคนไทย การสัมมนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ประเทศเกาหลีใต้ถูกยกเป็น ตัวอย่างความสำเร็จของการส่งออกสินค้าวัฒนธรรมอย่างเป็นระบบ

หนังซีรีย์ชุด "แดจังกึม" สามารถทำให้คนไทยเข้าใจคนเกาหลีได้อย่างลึกซึ้ง

ในเวลาอันรวดเร็ว ท่าเต้นเซ็กซี่ของสาว วง Girls Generation ทำให้เด็ก วัยรุ่นไทย เต้นเลียนแบบ ได้อย่างไม่มีที่ติ การส่งออกรสนิยมเกาหลีประสบ ความสำเร็จในช่วงเวลาเพียงข้ามคืนและเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การท่องเที่ยว เกาหลีใต้เติบโต อย่างก้าวกระโดด คนไทยอยากเรียนภาษาเกาหลีเพิ่มขึ้น สินค้าเกาหลีได้รับความนิยมทดแทนสินค้าญี่ปุ่น ที่เคยเป็นเจ้าตลาดมา ช้านาน อย่างง่ายดาย

นักคิด นักสร้างสรรค์ นักวางแผนไทย ตื่นเต้น! สนใจตั้งคำถาม พยายามหาคำตอบอย่างจริงจังว่า เกาหลีใต้สามารถสร้างปรากฎการณ์ความสำเร็จระดับ โลกเช่นนี้ได้อย่างไร?

ผมเองก็ได้แต่คาดเดา ไม่เคยตั้งใจค้นหาข้อมูลอย่างจริงจัง แต่ หลังจากได้ สัมผัส "ซองเกซอน" ผมมีคำตอบให้กับตัวเองมากยิ่งขึ้น

เกาหลีใต้มีพื้นที่ทั้งประเทศ ประมาณ 100,000 ตารางกิโลเมตร น้อยกว่า ประเทศไทย 5 เท่า มีกำลังคนเกือบ 50 ล้านคน น้อยกว่าเรา กว่า10 ล้านคน แต่สามารถเปลี่ยนฐานะจากประเทศยากจนเป็นประเทศพัฒนาระดับแนวหน้าของโลก ได้ในเวลาไม่นาน อะไรคือความต่างที่ทิ้งให้เราต้องตามหลัง?

เกาหลีใต้เติบโตอย่างมั่นคงด้วยการลงทุนในอุตสาหกรรมหนัก โรงถลุงเหล็ก อู่ต่อเรือ รับเหมาก่อสร้าง ผลิตรถยนตร์ มีสะดุดบ้างช่วงวิกฤต ต้มยำกุ้ง ในปี 1997 แต่ก็สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว นักวิเคราะห์ให้เหตุผลว่า สงคราม ความเกลียดชัง ความแร้นแค้น การขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ ผลักดัน ให้คนเกาหลีใต้ กล้าคิด กล้าเสี่ยง ขยันทำงานหนักเพื่อให้มีชีวิตที่ดีขึ้น

ก้าวสำคัญของการเปลี่ยนแปลง เริ่มขึ้น ต้นศตวรรษ ที่ 20 หลังอุตสาหกรรม ขนาดหนักถดถอย รัฐบาลประธานาธิบดี คิมแดจุง มองเห็นอนาคตของโลก อินเตอร์เน็ต จึงทุ่มเทสนับสนุนอุตสาหกรรมขนาดเล็กขนาดกลางที่เกี่ยวข้อง กับเทคโนโลยีสมัยใหม่ สนับสนุนการส่งออกอย่างจริงจัง ทุ่มเทงบประมาณ มหาศาลให้การศึกษาคนรุ่นใหม่อย่างหนัก โดยเฉพาะด้าน คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ

ในปี 1980 คนเกาหลีใต้มีรายได้เฉลี่ยเพียง 2,300 เหรียญสหรัฐต่อปี น้อยกว่า คนญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์เกือบ 2 เท่า แต่ล่าสุด ปี 2010 รายได้เฉลี่ยคนเกาหลีใต้เพิ่มสูงขึ้นเป็น 30,000 เหรียญสหรัฐต่อปี คิดเป็นเงินไทยมากกว่า 70,000 บาทต่อเดือน

30 ปีที่แล้วประเทศเกาหลีใต้มีรายได้รวมทั้งประเทศ 88,000 ล้านเหรียญ สหรัฐ แต่วันนี้เกาหลีใต้ สามารถสร้างรายได้ สูงถึง 1,460,000 ล้านเหรียญ สหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่า 13 เท่าตัว กลายเป็นประเทศที่มีรายได้ประชาชาติสูงเป็น อันดับ 15 ของโลก รายได้จากการส่งออกสูงเป็นอันดับ 7 ของโลก

"ลี มยอง ปาก" Lee Myung Bak ลูกคนงานรับจ้างในไร่ปศุสัตว์

นักศึกษาติดคุก ข้อหากบฎประท้วงต่อต้านรัฐบาลปาร์กจุงฮี ได้รับการยกย่อง ให้เป็น คนรุ่นแรกผู้บุกเบิกการปกครองระบอบประชาธิปไตย เริ่มต้นทำงาน บริษัทฮุนไดก่อสร้าง เป็นทีมงานรุ่นแรกที่เข้ามาสร้างถนน สายปัตตานี-นราธิวาส เป็น CEO อายุ 27 ปี อายุน้อยที่สุดของเกาหลีใต้ เป็นประธาน บริษัทฮุนไดก่อสร้าง ก้าวสู่เส้นทางการเมืองเป็นนายกเทศมนตรีกรุงโซล ปัจจุบันเป็นประธานาธิบดีคนที่ 17 ของเกาหลีใต้ และเป็นคนคิดสร้างสรรค์ โครงการ "ซองเกซอน"

วันนี้โลกแข่งขันกัน ตั้งแต่ผลิตสินค้าชิ้นเล็กๆ จนถึงการออกแบบเมืองเพื่อให้ ผู้คนอยากอยู่อาศัย เมืองทันสมัย สะดวกสบาย เมืองที่ให้ความสำคัญกับ คุณภาพชีวิตคนทุกชนชั้นอย่างเท่าเทียม แสดงออกถึง สาระที่เหนือกว่า เมืองสกปรก รกรุงรัง มีพิษ เอารัดเอาเปรียบ

คลอง"ซองเกซอน" Cheonggyecheon Stream ความยาว 5.8 ก.ม เป็นโครงการลงทุนมูลค่าเกือบสองหมื่นล้านบาท เกิดจากความคิดที่จะ เปลี่ยนเมืองเก่า สับสนวุ่นวาย ให้เป็นเมืองที่มีความคิดสร้างสรรค์ ใกล้ชิดธรรมชาติ น่าอยู่ มีความสุข และตั้งใจสร้างให้เป็นปรากฏการณ์ที่โลกสมัยใหม่ต้องกล่าวขวัญ


คลอง"ซองเกซอน" เป็นคลองโบราณ สมัยราชวงค์โชซอน (Joseon Dynasty) อายุกว่า 600 ปี เป็นสายชีวิตสำคัญกลางกรุงโซลมาช้านาน

เมื่อเมืองขยายตัว ผู้คนมากมายอพยพเข้ามาอยู่อาศัย คลองถูกใช้อย่างไม่ทะนุถนอม เน่าเสีย เหือดแห้ง ตื้นเขิน สองข้างคลองเต็มไปด้วยชุมชน แออัดยากจน สกปรก ปี 1967 คลองเก่าแก่ไร้ประโยชน์ถูกถมสร้างเป็น ถนนลอยฟ้า เพื่อเพิ่มพื้นที่ให้กับรถยนต์กว่า 3,000,000 คัน สนองวิถีชีวิต คนเมืองที่ต้องการความรวดเร็วสะดวกสบาย

เจ้าของแผงลอยตลาดสินค้ามือสอง สินค้าหลุดจากฐานทัพอเมริกัน ที่อาศัยใต้ทางด่วนลอยฟ้า ต่อต้านโครงการนี้อย่างหนัก เทศบาลกรุงโซล

ใช้การพูดคุยทำความเข้าใจและใช้มาตรการเด็ดขาดเคลื่อนย้ายชุมชนไปไว้ ในที่เหมาะสม ลงทุนสร้างระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพขึ้นมารองรับ ทดแทนทางด่วนใจกลางเมืองที่กำลังผุพังเป็นอันตรายและควรรื้อถอน

โครงการ "ซองเกซอน" เริ่มก่อสร้างกลางปี 2003 และเปิดใช้อย่างเป็น ทางการในเดือนตุลาคม 2005




รื้อทางด่วนลอยฟ้า 5.8 ก.ม ขุดคลองให้เป็นที่พักผ่อนของผู้คนใจกลางเมือง ความคิดเช่นนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ความสำเร็จของโครงการนี้อยู่ที่ไหน?

หลายคนวิจารณ์ว่านี่เป็นโครงการที่ใช้เงินภาษีของประชาชนอย่างมากมาย มหาศาล เพื่อให้นักการเมืองหาคะแนนเสียงให้กับตัวเองเป็นโครงการ ฟุ่มเฟือย เพ้อฝัน ได้ไม่คุ้มเสีย แต่หลังจากโครงการนี้สำเร็จ มันได้เป็น บทพิสูจน์ว่า ความคิดสร้างสรรค์ เป็นหัวใจสำคัญของการเปลี่ยนแปลง กรุงโซลไม่ได้แข่งสร้างตึกระฟ้ากับเมืองเกิดใหม่ของโลก เพื่ออวด สัญลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมอันยิ่งใหญ่ แต่ตัดสินใจ ลงทุนรื้อถนนขุดคลอง นำสายชีวิตของเมืองที่ถูกทำลายกลับคืนมา มอบให้กับประชาชน เป็นการ คิดต่างที่ทำให้โลกตื่นเต้น ความคิดใหม่ที่กล้าท้าทาย ล้วนมากด้วยข้อ ถกเถียงมากความขัดแย้ง จึงต้องการผู้นำที่กล้าตัดสินใจ ความสำเร็จของ การเปลี่ยนแปลงต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน วางแผนงานอย่างละเอียดรอบคอบ มีทีมงานทำงานเป็น มีประสิทธิภาพ ได้ผลงานคุณภาพชั้นเยี่ยม "ลี มยอง ปาก" เป็นผู้นำที่มองเห็นอนาคต กล้าลงมือสร้างอนาคต เพื่อความสุขของ ประชาชน จนได้รับการยกย่องจาก TIME Magazine ให้เป็น Heroes of the Environment ในปี 2007

"ซองเกซอน" เป็นความภาคภูมิใจของคนเกาหลีทั้งประเทศ เป็นความตั้งใจ

ที่ต้องการประกาศให้โลกรู้ว่า คนเกาหลีวันนี้ คิดเป็น ฉลาด ทันสมัย กล้า เปลี่ยนแปลง กล้าท้าทายโลกเก่า อเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ที่กำลังเสื่อมถอย และ พร้อมรับมือโลกใหม่ ที่ทรงพลังอย่างจีนโดยไม่เกรงกลัว วันนี้เกาหลีใต้ ไม่หยุดจะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ กลับเร่งทุ่มเทให้โลกยอมรับคุณภาพจาก เกาหลี Made in Korea อย่างรุนแรงต่อเนื่อง

ปรากฏการณ์ความสำเร็จของเกาหลีใต้ ไม่ใช่เรื่องที่จะทำตามกันไม่ได้

ประเทศไทยวันนี้เราต้องการ "ผู้นำ" ที่เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของโลก

ต้องการ "นักบริหารประเทศ" ที่มองเห็นโอกาสใหม่อยู่เสมอ สามารถ สร้างสรรค์ ขับเคลื่อน ขบวนการผลิตสินค้าและบริการมูลค่าสูง ให้โลก ยอมรับและอยากบริโภคโดยไม่ขอต่อรองราคา โมเดลประเทศเพื่อนบ้าน ที่ประสบความสำเร็จมีให้เราศึกษาอย่างมากมาย ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ได้วิ่งแซงหน้าทิ้งห่างเราไปไกลขึ้นเรื่อยๆ

ยักษ์ใหญ่อย่างจีนพัฒนาสินค้าคุณภาพส่งขายทั่วโลกได้อย่างรวดเร็วจนหน้าตกใจ การเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน การเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับอนาคตของประเทศเราต้องการทุนที่จะ นำมาปรับปรุงคนของเราให้ฉลาด ทันในการแข่งขันมากกว่านี้










"เศรษฐกิจสร้างสรรค์" ต้องไม่ใช่นโยบายที่พูดกันอย่างสับสนเลื่อนลอย แต่ต้องเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงจุดเด่นที่คนไทยมีอยู่ ประเทศไทยมีอยู่ รัฐต้อง ลงมือทำงานอย่างจริงจัง สนับสนุนการสร้างรายได้แบบใหม่ ผลิตสินค้า และบริการ อาศัยความได้เปรียบ จากสินทรัพย์ วัฒนธรรม ภูมิปัญญา และทักษะแรงงานที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว รัฐต้องสนับสนุนสร้างตลาดการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างท้องถิ่นให้

คึกคักมีชีวิตชีวาทั้งหมดนี้เพื่อให้เกิดการสร้างงานที่มั่นคงและสังคมที่ แข็งแรงในอนาคตและยังไม่สายเกินไป เราต้องเร่งสร้างสินค้ามูลค่าสูง Made in Thailand ด้วยความแตกต่าง มีคุณภาพ มีรสนิยม เป็นที่ต้องการของตลาดโลก ยุคใหม่ รับใช้คนชั้นกลางเกิดใหม่อีกหลายร้อยล้านคน ที่มีกำลังซื้อมหาศาล อยากจับจ่ายใช้สอย อยากทดลองสินค้า "คุณภาพใหม่" ด้วยใจจดจ่อ

ผมใช้เวลาเดินที่ คลอง "ซองเกซอน"เกือบสองชั่วโมง สิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ เป็นงานออกแบบชั้นเยี่ยม ตั้งใจตอบสนองความสุขหลากหลายของชีวิตผู้คน มากครอบครัวมานั่งพักผ่อนหย่อนใจ เด็ก ๆ วิ่งเล่นอย่างสนุกสนาน พนักงาน บริษัทชวนกันมาเป็นกลุ่ม ซื้อขนมขบเคี้ยว นั่งล้อมวงดื่มเบียร์สังสรรค์ อย่างเรียบร้อยและเคารพสิทธิของผู้อื่น หนุ่มสาวแยกเป็นคู่ ๆ ปรับทุกข์บ้าง พลอดรักบ้าง มีคณะดนตรีเปิดหมวก เล่นให้ครึกครื้นรื่นรมย์ตลอดเส้นทาง นักท่องเที่ยวหลายสัญชาติเดินชมนิทรรศการ ถ่ายรูปเก็บเป็นที่ระลึก สนุกกับโชว์แสงเลเซอร์ที่คาดไม่ถึง ผมได้สัมผัสตัวตนของเกาหลีใต้อย่าง ใกล้ชิด รู้สึกได้ถึงพลังของประเทศที่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่น พร้อมก้าวเดิน เข้าสู่การแข่งขันในทศวรรตหน้าอย่างมั่นใจ

ทุกย่างก้าวที่ "ซองเกซอน" ทำให้ผมครุ่นคิด เปรียบเทียบ ประเทศไทย ของเรา ไม่มีเวลาที่จะหยุดเดิน ถอยหลัง หรือแกล้งหกล้มอีกต่อไปแล้ว เราต้องเร่งสร้างคนรุ่นใหม่ ที่ คิดเป็น ทำเป็น เราต้องการผู้บริหารประเทศ รุ่นใหม่ที่กล้าวางแผนให้ประเทศอย่างชัดเจนว่า อีกสิบปีข้างหน้าเราจะยืน บนตำแหน่งไหนของโลก และต้องลงมือทำตั้งแต่วันนี้

ทรงศักดิ์ เปรมสุข

27 มิถุนายน 2554